มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์
องค์การนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) มอบสิทธิในการจัดหาผู้แทนประเทศไทย เพื่อเข้าประกวดนางงามจักรวาล แก่ชาติเชื้อ กรรณสูต เป็นคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยขณะนั้น ชาติเชื้อมีทั้งสถานะของ กรรมการผู้จัดการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นผู้ถือสิทธิในชื่อการประกวดนางสาวไทย เขาจึงนำทั้งสององค์กร มาร่วมกันจัดการประกวดนางสาวไทย เพื่อส่งผู้ชนะเลิศเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าประกวดนางงามจักรวาลดังกล่าว จนกระทั่งชาติเชื้อเสียชีวิตลง องค์การนางงามจักรวาลจึงสนับสนุนให้สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้เป็นน้องสาวของชาติเชื้อ เป็นผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวต่อไป
เมื่อปี พ.ศ. 2543 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย นำชื่อการประกวดนางสาวไทย ไปจัดร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยหลังจากปี พ.ศ. 2551 ก็ย้ายไปจัดร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ จนถึงปัจจุบัน ด้วยกรณีดังกล่าว สุรางค์ในนามช่อง 7 สี จึงก่อตั้งการประกวดในชื่อใหม่ว่ามิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ต่อมาองค์การนางงามจักรวาล มีมติให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำหนดชื่อการประกวด และชื่อตำแหน่งนางงามของแต่ละประเทศ โดยใช้คำว่ามิสยูนิเวิร์ส และตามด้วยชื่อประเทศนั้นๆ เป็นผลให้สุรางค์ประกาศ เปลี่ยนชื่อการประกวดเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ในการแถลงข่าวการจัดประกวดในครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 พร้อมทั้งเปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์ จากช่อง 7 สีไปเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เนื่องจาก บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ มีคำสั่งให้สุรางค์พ้นจากทุกตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีเดียวกัน[1]
ต่อมาภายหลัง บริษัท จันทร์ 25 จำกัด ผู้จัดการประกวด เปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์อีกครั้งจาก ททบ.5 ไปเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ตั้งแต่การประกวดในปีพ.ศ. 2557 เป็นต้นไป[2] เนื่องจาก ททบ.ต้องปรับปรุงเนื้อหารายการ เป็นบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง ตามที่ กสทช.กำหนด จึงไม่สามารถเผยแพร่การประกวด ซึ่งถือเป็นรายการประเภทบันเทิงต่อไปได้ ประกอบกับทางบริษัท จันทร์ 25 จำกัด ร่วมผลิตละครกับทางบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) และออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 จึงมีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว เป็นสองเหตุผลสำคัญ ที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
เพลงประจำการประกวด
ทั้งนี้ ในการประกวดนางสาวไทย (ยุคช่อง 7 สีร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ) มีการใช้เดือนในหมู่ดาว (ชื่ออื่น: เธอ, ยอดพธู) ซึ่งขับร้องโดยเรวัต พุทธินันทน์ (ต่อมาจัดทำดนตรีและขับร้องใหม่ เริ่มใช้ครั้งแรกในการประกวดเมื่อปี พ.ศ. 2535[ต้องการอ้างอิง]) เป็นเพลงประจำการประกวด ต่อมาในยุคมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ก็เปลี่ยนมาใช้เพลงหนึ่งในร้อย ที่ขับร้องโดยธงไชย แมคอินไตย์ จากนั้นในยุคมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ สุรางค์นำเนื้อเพลงเดือนในหมู่ดาว ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลของตน มาให้ธงไชยขับร้องใหม่ เพื่อใช้กับการประกวดในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น